SHOPPING สบายกระเป๋าที่ต่างประเทศกับ 5 เทคนิคการต่อราคา

ฤดูหนาวมาแล้วจ้า ช่วงนี้เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาทองของการท่องเที่ยวจริง ๆ เพราะอากาศเย็นสบาย มีทิวทัศน์ที่สวยงาม ดอกไม้ฤดูหนาวเบ่งบานและหิมะตกในบางประเทศด้วย ที่สำคัญตรงกับช่วงปลายปีที่มีวันหยุดยาวติดกันแบบรัว ๆ เชื่อว่าตอนนี้หลายคนคงกำลังวางแผนท่องเที่ยว หรือ ว่ากำลังอยู่ระหว่างการเดินทางค่ะ

การไปเที่ยวต่างประเทศนอกจากไปดูศิลปะวัฒนะธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวอันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศที่ไปเยี่ยมเยือน ลิ้มรสอาหารประจำท้องถิ่นที่หาทานได้ยากในบ้านเราและแน่นอนว่าต้องมีช่วงช็อปปิ้งเอาใจทุกคนที่มี Passion ในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเองในหัวใจค่ะ ซึ่งนอกจากสินค้าแบรนด์ดังที่มีให้เลือกหลากหลายในราคาที่ถูกกว่าบ้านเราเพราะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าแล้ว ยังมีสินค้าท้องถิ่นและงาน Handmade หรืองานผลิตภายในประเทศที่มักขายคนต่างชาติในราคาแพงกว่าปกติ! ดังนั้นมาดูเคล็ดลับการต่อรองราคาเหล่านี้กันค่ะ

1. มองหาป้ายราคา

การต่อราคาสำหรับสินค้าภายในร้านแบรนด์ดังซึ่งมีป้ายเขียนราคาไว้ชัดเจนนั้นเป็นไปไม่ได้เนอะ แต่หากเป็นร้านในตลาดท้องถิ่นซึ่งมีทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวเดินเลือกสินค้านั้น หากพบของที่ถูกตาต้องใจให้ลองมองหาป้ายราคาค่ะ

  • หากมีป้ายราคาก็ต้องทำใจไว้ก่อนว่าอาจจะต่อราคาไม่ได้ค่ะ อาจจะได้นิดหน่อยจากราคาป้ายเท่านั้น ทั้งนี้เราต้องคิดก่อนว่าราคาที่ตั้งนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่เพราะถ้าราคาที่ตั้งถูกอยู่แล้วอาจโดนพ่อค้าแม่ค้าค้อนใส่ได้ค่ะ
  • หากมีป้ายราคาแต่เป็น 2 ภาษา คือภาษาท้องถิ่นและภาษาอังกฤษให้ลองคิดคำนวณอัตราเปรียบเทียบกันดูค่ะ ถ้าใกล้เคียงกันก็แสดงว่าไม่ได้บอกผ่านค่ะ แต่ถ้าต่างกันมากก็พอจะรู้แนวนะคะว่าต่อได้ประมาณไหน อิอิ
  • ไม่มีป้าย! ถ้าเราถูกใจสินค้าชิ้นนั้นให้คำนวณราคาที่จ่ายไหวไว้ในใจ เมื่อเค้าบอกราคามาเราก็เริ่มต่อรองไปยาว ๆ ค่ะ

2. สำรวจราคาทั่ว ๆ ก่อน

หากสินค้าที่คุณเล็งไว้เป็นสินค้าที่มีขายทั่วไป มีขายหลายร้าน ให้ลองเดินสำรวจดูป้าย หรือสอบถามราคารอบ ๆ จะช่วยให้คาดเดาราคาที่ดีที่สุดที่คุณน่าจะซื้อสินค้าชิ้นนั้นได้ง่ายขึ้น และต่อราคาได้อย่างมั่นใจมากขึ้น เท่านี้กระเป๋าใบนั้นก็ต้องเป็นของขั้น! เอ้ยของคุณในราคาสบายกระเป๋าแล้วล่ะ

3. สุภาพไว้ได้ใจพ่อค้าแม่ขาย

ความสุภาพอ่อนน้อมนั้นช่วยให้คุณได้ดั่งใจหวังเสมอ ไม่เว้นแม้แต่ที่ต่างประเทศ การทักทายด้วยรอยยิ้มและพูดคุยอย่างสุภาพจะทำให้การต่อรองราคาเป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย พ่อค้าแม่ค้าเมื่อเริ่มมีความรู้สึกทางบวกกับคุณแล้วเค้าก็อยากปิดการขายและคุณก็จะได้สินค้าในราคาที่สมเหตุสมผล แถมเคล็ดลับเล็กน้อยอีกสักนิดให้ลองเรียนรู้คำทักทายและคำขอบคุณเป็นภาษาท้องถิ่นและพูดด้วยรอยยิ้มรับรองว่าเรียกรอยยิ้มจากพ่อค้าแม่ค้าได้แน่นอนค่ะ

4. หาเพื่อนช็อปปิ้ง

ลองหาเพื่อนไปเดินเล่นซื้อของเป็นเพื่อนหากเป็นคนท้องถิ่นยิ่งดีใหญ่เพราะคุณจะได้ราคาเดียวกับคนท้องถิ่นเลยล่ะ แต่หากไม่ใช่ก็ไม่เป็นไร เพราะถ้าเพื่อนของคุณต้องการสินค้าในร้านเดียวกันจะช่วยให้การต่อรองง่ายขึ้นเพราะคนขายคิดคำนวณแล้วว่าต้องขายได้มากกว่า 1 ชิ้นหรืออาจเตี๊ยมกับเพื่อนว่าถ้าคนขายทำทีใจแข็งก็ให้แกล้งเดินออกจากร้านไปเลย จะช่วยให้คนขายเสนอราคาสุดท้ายที่ยินดีขายกับคุณทันที

5. เทคนิคและจิตวิทยา

อาจต้องเล่นใหญ่กันสักหน่อยถ้าคุณอยากได้ของชิ้นนั้นจริง ๆ หากคุณมีราคาที่ยอมจ่ายไว้ในใจและสอบถามคนท้องถิ่นมาบ้างว่าราคาที่ตั้งขายคนต่างชาตินั้นตั้งไว้สูงกว่าราคาขายคนท้องถิ่นกี่ %

  • หลังจากต่อรองแล้วยังไม่ได้ราคาที่พอใจให้ทำทีลังเล หรือทำทีตัดใจ และเดินออกจากร้าน คนขายจะรีบเสนอราคาที่ดีที่สุดที่เค้าขายได้ให้คุณทันที
  • เริ่มต่อรองจากราคา 50% ของราคาที่คนขายตั้ง แล้วคนขายจะค่อย ๆ เสนอราคาที่ขายได้ให้คุณต่อรองเอง ทั้งนี้คุณต้องศึกษามาก่อนว่าราคานักท่องเที่ยวตั้งไว้มากกว่ากี่ % และมีราคาที่เต็มใจจ่ายอยู่ในใจ มิเช่นนั้นแล้วการต่อราคาโดยเริ่มจากราคาที่ผู้ขายขาดทุนย่อยยับก็อาจเป็นการทำเสียมารยาทกับพ่อค้าแม่ค้าและทำให้เกิดความรู้สึกทางลบได้ค่ะ
  • นำเงินสดในจำนวนเท่ากับยอดเงินที่คุณพร้อมจ่ายสำหรับซื้อสินค้าชิ้นนั้นออกมาถือไว้ในมือ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ขายว่าการต่อรองครั้งนี้เค้าจะไม่เสียเวลาเปล่า และช่วยให้คุณได้สินค้าในราคาตรงใจได้ไวขึ้นค่ะ

ไม่ใช่เฉพาะในต่างประเทศเท่านั้นที่ตั้งราคาขายสินค้าสำหรับนักท่องเที่ยวไว้สูง ในเมืองไทยบ้านเราเองก็มีหลายร้านเช่นกันค่ะ นอกจากค่าสินค้าแล้วหากเป็นค่าบริการ เช่น ค่ารถรับส่ง บริการนวดคลายกล้ามเนื้อ หรือบริการอื่น ๆ ให้สังเกตุและสอบถามจากคนท้องถิ่นที่สนิทสนมค่ะ ต่อราคาได้เยอะเป็นเท่าตัวก็มีนะคะ จะช่วยให้เราประหยัดเงินในทริปนี้ได้เยอะทีเดียวล่ะค่ะ

Comments